ผู้เขียน หัวข้อ: โรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer)  (อ่าน 158 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 509
  • รับจ้างโพสต์เว็บ สำหรับเจ้าของเวปไซต์ เจ้าของกิจการ
    • ดูรายละเอียด
โรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer)
« เมื่อ: วันที่ 18 มกราคม 2024, 09:45:32 น. »
โรคมะเร็งปากมดลูก ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส เอชพีวี (HPV) ซึ่งมักจะติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้


โรคมะเร็งปากมดลูก เกิดจากอะไร?

โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในเซลล์ปากมดลูกซึ่งอยู่บริเวณช่วงล่างของมดลูกและเชื่อมต่อกับช่องคลอด โรคมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดฮิวแมนแปปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus) หรือเอชพีวี (HPV) ซึ่งมักจะติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ HPV เป็นครั้งแรก ระบบภูมิคุ้มกันจะพยายามปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตามเชื้อ HPV อาจทำให้เซลล์ที่ปากมดลูกเกิดความผิดปกติและกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกเพื่อป้องกันเชื้อ HPV จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้

ในระยะแรกที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกมักจะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ แต่ในภายหลังเมื่อเริ่มเป็นหนักมากขึ้นร่างกายจะเริ่มแสดงอาการผิดปกติ เช่น มีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือตกขาวผิดปกติ และอาจมีอาการปวดร่วมด้วยได้


อาการโรคมะเร็งปากมดลูก

ผู้ป่วยควรทำการนัดพบแพทย์เมื่อพบลักษณะอาการที่ผิดปกติหรือไม่พึงประสงค์ ดังนี้

    มีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
        เลือดออกกระปริดกระปรอย
        เลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์
        ประจำเดือนมาผิดปกติ ประจำเดือนมานานขึ้น หรือ ประจำเดือนมามากผิดปกติ
        มีเลือดออกหลังจากหมดประจำเดือน
    มีตกขาวผิดปกติ
        ตกขาวปริมาณมากขึ้น
        ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือ มีเลือดปน
    ปวดหน่วงท้องน้อยโดยไม่ทราบสาเหตุ
    มีอาการเจ็บหลังจากมีเพศสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีอาการใด ๆ หากตรวจคัดกรองแล้วพบว่าผลตรวจมะเร็งปากมดลูกผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป


สาเหตุโรคมะเร็งปากมดลูก

เชื้อ HPV มีบทบาทสำคัญในการเกิดมะเร็งปากมดลูก เมื่อเซลล์ปกติที่อยู่บริเวณปากมดลูกเกิดการกลายพันธุ์จะส่งผลให้เกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งได้ อย่างไรก็ตามคนส่วนมากที่ได้รับเชื้อไวรัส HPV เซลล์อาจจะยังไม่พัฒนาเป็นมะเร็งตั้งแต่แรกที่ได้รับเชื้อ ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมหรือรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลอาจส่งผลต่อการเกิดโรคด้วยเช่นกัน


ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อมะเร็งปากมดลูก

ปัจจัยเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงขึ้น ได้แก่

    การมีคู่นอนหลายคน หรือการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
    การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
    การได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นๆ อย่างเช่น โรคติดเชื้อคลามีเดีย (chlamydia) โรคหนองในแท้ (gonorrhea) โรคซิฟิลิส (syphilis) และโรคติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ (HIV/AIDS)
    ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดีจะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าคนทั่วไปโดยเฉพาะหากระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
    การสูบบุหรี่


การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ เริ่มจากแนะนำให้ลดปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน และงดสูบบุหรี่ เป็นต้น นอกจากนี้ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV (HPV vaccine) ซึ่งสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกและรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งได้  นอกจากนี้การป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่มีความเสี่ยงสูง ยังสามารถป้องกันมะเร็งปากช่องคลอด ช่องคลอด ทวารหนัก และมะเร็งช่องปากได้อีกด้วย โดยทั่วไปแนะนำให้ฉีด HPV วัคซีน ที่ช่วงอายุ 11 หรือ 12 ปี ถึงอายุ 26 ปี และได้ผลดีที่สุดในคนที่ไม่เคยได้รับเชื้อหรือไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้ว แพทย์ก็ยังแนะนำให้ไปตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามปกติ

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมีทั้งวิธีการ ตรวจแปปสเมียร์ (Pap smear) และวิธีตรวจ เอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA) สำหรับการตรวจแปปสเมียร์ แพทย์จะทำการป้ายเซลล์จากปากมดลูกเพื่อเก็บไปตรวจหาความผิดปกติ หรือปัจจุบันใช้วิธี Liquid-base cytology (LBC) เป็นการเก็บเซลล์จากปากมดลูกใส่ในของเหลวเพื่อตรวจหาเซลล์ผิดปกติ ซึ่งให้ผลตรวจที่ชัดเจนมากขึ้น การตรวจแปปสเมียร์ หรือ LBC จะสามารถตรวจหาได้ทั้งเซลล์มะเร็ง และเซลล์ที่มีโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการตรวจเชื้อ HPV DNA สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจคัดกรองมากขึ้น

ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์สำหรับแนวทางการตรวจคัดกรองมดลูก โดยทั่วไปจะแนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองมดลูกในหญิงที่อายุ 21 ปี ขึ้นไป


การวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูก

ในการวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกครั้งแรก แพทย์จะเริ่มทำการตรวจปากมดลูกและหากแพทย์ตรวจพบรอยโรคที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อ (punch biopsy) ที่ตำแหน่งที่สงสัยบริเวณปากมดลูก โดยใช้เครื่องมือปลายแหลมในการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจเพิ่มเติมในห้องปฏิบัติการ

อย่างไรก็ตาม หากตรวจไม่พบรอยโรค แต่ตรวจพบเซลล์มะเร็งปากมดลูกผิดปกติจาก Pap smear หรือ HPV DNA test แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธี การส่องกล้องปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป (colposcopic examination) การตรวจแบบนี้ใช้กล้องคอลโปสโคปในการตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากเซลล์จากปากมดลูกเพื่อนำไปตรวจเพิ่มเติมในห้องปฏิบัติการ ในบางครั้งอาจตรวจด้วยการ ขูดภายในคอมดลูก (endocervical curettage) ผ่านการใช้เครื่องมือขนาดเล็ก (curette) ขูดเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกเพื่อการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

ในกรณีที่ผลชิ้นเนื้อพบว่าเป็นรอยโรคก่อนมะเร็ง แพทย์จะทำการรักษาพร้อมวินิจฉัย ด้วยวิธีการผ่าตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวย (cone biopsy หรือ conization) โดยมักจะทำด้วยวิธี Loop electrosurgical excision procedure (LEEP) โดยใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะวงลวดไฟฟ้าขนาดเล็ก (electrical wire loop) พร้อมกับการใช้กระแสไฟฟ้าแรงดันต่ำ และการผ่าตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวย เพื่อวินิจฉัยและรักษารอยโรคก่อนมะเร็ง

สำหรับการตรวจเพื่อระบุระยะของมะเร็งปากมดลูก นอกเหนือจากการตรวจภายใน และการตรวจทางทวารหนักในเบื้องต้น การสร้างภาพเหมือนจริง (imaging tests) เช่น การตรวจด้วยเอกซ์เรย์ (X-ray) การตรวจ CT scan การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการใช้ PET Scan ที่จะช่วยระบุระดับการลุกลามของมะเร็งต่ออวัยวะส่วนอื่นๆ นอกจากนั้นในบางราย แพทย์อาจจะทำการตรวจดูภายในกระเพาะปัสสาวะและทวารหนักร่วมด้วย


การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก

โรคมะเร็งปากมดลูก สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกหรือวัคซีน HPV ในช่วงอายุ 11-12 ปีโดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ แต่ในกรณีผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคมะเร็งปากลูกก็มีทางเลือกในการรักษามะเร็งปากมดลูกที่หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด (surgery) การใช้รังสีรักษา (radiation) การใช้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) หรือการรักษาร่วมกัน


การผ่าตัด (Surgery)
    ในมะเร็งปากมดลูกระยะแรก แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นการรักษาหลัก โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยทำการผ่าตัดปากมดลูกแบบกว้าง (radical hysterectomy) โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดปากมดลูก มดลูก ส่วนบนของช่องคลอด รวมไปถึงเนื้อเยื่อด้านข้าง และเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน แต่หากมะเร็งปากมดลูกมีขนาดเล็กมากและเป็นระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยอาจจะได้รับการผ่าตัดเพียงปากมดลูกและมดลูก (simple hysterectomy) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการมีบุตรในอนาคต ยังมีทางเลือกผ่าตัดที่สามารถเก็บมดลูกไว้ได้ (ผ่าตัดปากมดลูก หรือ trachelectomy)  ซึ่งแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของการรักษาต่อไป
   
การใช้รังสีรักษา (Radiation)
    หลังทราบผลชิ้นเนื้อและพบว่ามีความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำ แพทย์อาจแนะนำการใช้รังสีรักษา เพื่อร่วมรักษาเพิ่มเติมหลังผ่าตัด

    สำหรับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามเฉพาะที่ (locally advanced cervical cancer) แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยรังสีรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาหลัก

    การรักษาด้วยรังสีรักษามี 2 ประเภทหลักๆ ประเภทแรกคือการฉายรังสีระยะไกล (external beam radiation therapy) วิธีการนี้เป็นการรักษาด้วยรังสีที่มาจากเครื่องกำเนิดรังสี แพทย์จะทำการฉายรังสีไปยังจุดที่ผิดปกติ วิธีการรักษาอีกประเภทคือ การให้รังสีระยะใกล้ (Brachytherapy) โดยแพทย์จะให้แร่ผ่านด้านในช่องคลอดเป็นระยะเวลาสั้น ๆ

    การใช้รังสีรักษาอาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนกำหนด ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและหาแนวทางการเก็บรักษาไข่ก่อนเริ่มการรักษาโดยเฉพาะในกรณีผู้ป่วยอายุน้อย หรือผู้ป่วยที่ต้องการมีบุตร ในอนาคต
   

การใช้เคมีบำบัด (Chemotherapy)
    การรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยแพทย์จะรักษาด้วยการใช้เคมีบำบัดในปริมาณเล็กน้อยร่วมกับการใช้รังสีรักษา สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามเฉพาะที่ โดยยาเคมีบำบัดจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของรังสีรักษามากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่กระจายแพทย์มักจะรักษาด้วยวิธีให้ยาเคมีบำบัดเป็นหลัก

    นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาด้วยการใช้ยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted-Drug Therapy) แพทย์มักจะใช้การรักษารูปแบบนี้ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด


การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

ถูกนำมาใช้สำหรับการรักษามะเร็งปากมดลูกในระยะแพร่กระจาย หรือในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาประเภทอื่นๆ การรักษาแบบนี้จะช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ในการกำจัดเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตาม การรักษาวิธีนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร


โรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/109