ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: พิษจากผึ้ง ต่อ แตน แมลงภู่ หมาร่า มดตะนอย มดคันไฟ  (อ่าน 27 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 508
  • รับจ้างโพสต์เว็บ สำหรับเจ้าของเวปไซต์ เจ้าของกิจการ
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: พิษจากผึ้ง ต่อ แตน แมลงภู่ หมาร่า มดตะนอย มดคันไฟ

ผึ้ง ต่อ แตน แมลงภู่ หมาร่า มดตะนอย มดคันไฟ* แมลงพวกนี้จะมีเหล็กในอยู่ที่ส่วนปลายของลำตัว เมื่อต่อยเข้าผิวหนังของคนเรา จะปล่อยพิษออกมาทำให้เกิดอาการต่าง ๆ

*แมลงพวกนี้จัดอยู่ในกลุ่มไฮเมนอปเทรา (Hymenoptera) มีพิษประกอบด้วยสารหลายชนิด เช่น histamine, serotonin, dopamine, acetycholine, catecholamine, kinin, phospholipase, protease, hyaluronidase, allergens, mastaparan (เป็น mast cell degranulation peptide ซึ่งสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาอะนาไฟเเลกทอยด์คล้ายภาวะช็อกจากการแพ้ได้) เป็นต้น พิษเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้เฉพาะที่ แพ้รุนแรงทั่วร่างกาย เป็นพิษต่อระบบต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เช่น ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก เกล็ดเลือดต่ำ หลอดเลือดอักเสบ ไตอักเสบ ไตวายเฉียบพลัน ประสาทอักเสบ เป็นต้น

ผึ้ง (bee) จัดอยู่ในตระกูล Apidae มีอยู่หลายชนิด เช่น ผึ้งหลวง ผึ้งเลี้ยง ผึ้งมิ้ม เป็นต้น เเมลงภู่ (bumble-bee) เป็นผึ้งขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่มีขนเล็ก ๆ ปกคลุมลำตัวทำให้มีเสียงดังเวลาบิน ผึ้งจะต่อยคนเพียงครั้งเดียว แล้วทิ้งเหล็กในฝังไว้บนผิวหนังของผู้ที่ถูกต่อย   

ต่อ แตน หมาร่า (ต่อหมาร่า) มีลักษณะและวงจรชีวิตคล้ายกัน จัดอยู่ในตระกูล Vespidae ภาษาอังกฤษเรียกว่า wasp ต่อจะมีขนาดใหญ่กว่า มีความยาวมากกว่า 1.5 ซม. ต่อที่มีตัวโตเรียกว่า ต่อเสือ (hornet) ต่อมีหลายชนิด เช่น ต่อหัวเสือ ต่อหลวง ต่อยักษ์ ต่อรัง ต่อรู ต่อหลุม ต่อขวด ต่อเหลือง ต่อป่า ต่อนอนวัน ต่อมดแดง เป็นต้น ต่อตัวหนึ่งสามารถต่อยคนได้หลายครั้ง และมักไม่ทิ้งเหล็กในไว้บนผิวหนังของผู้ถูกต่อย

แตน มีขนาดเล็กกว่าต่อ มักมีความยาวต่ำกว่า 1.5 ซม. มีหลายชนิด เช่น แตนบัว แตนฝักบัว แตนลิ้นหมา แตนขี้หมา แตนกล้า เป็นต้น

มดตะนอย มดคันไฟ (fire ant) เป็นแมลงในกลุ่มไฮเมนอปเทรา จัดอยู่ในตระกูล Formicidae มีเหล็กในต่อยคนได้เช่นเดียวกับผึ้ง ต่อ และแตน มักทำให้เกิดพิษเฉพาะที่ ส่วนการเกิดอาการแพ้หรือเป็นพิษรุนแรงแบบผึ้งและต่อต่อยนั้นพบได้น้อย


อาการ

ส่วนมากจะมีอาการเฉพาะที่เพียงเล็กน้อย คือ บริเวณที่ถูกต่อยมีอาการปวด บวม แดง คัน แสบร้อน อาจเป็นอยู่นานหลายชั่วโมง (ในรายที่ถูกมดกัด รอยบวมแดงจะยุบหายภายใน 45 นาที แล้วมีตุ่มพองเกิดขึ้น ซึ่งจะแตกใน 2-3 วันต่อมา อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนกลายเป็นตุ่มหนองได้)

ถ้าเป็นมาก จะมีอาการบวม ซึ่งจะค่อยขยายใหญ่ขึ้น จนอาจมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 5-10 ซม. อาการมักจะเกิดขึ้นภายใน 12-36 ชั่วโมงหลังถูกต่อย และจะเป็นอยู่นานหลายวัน บางครั้งทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นการติดเชื้อ (ในกรณีถูกผึ้งหรือต่อต่อยจะพบการติดเชื้อได้น้อยมาก)

ถ้าถูกต่อยที่ลิ้นหรือในช่องปาก อาจทำให้ลิ้นและเยื่อเมือกในช่องปากบวมจนอุดกั้นทางเดินหายใจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งมักจะพบในเด็ก

ถ้าต่อยถูกบริเวณใกล้เส้นประสาท ก็อาจทำให้เส้นประสาทถูกกดทับ เกิดอาการชาได้

ถ้าถูกต่อยที่กระจกตา อาจทำให้เกิดแผลกระจกตาได้

ในบางรายพิษอาจเข้ากระแสเลือด เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ (allergic reaction) หรืออาการเป็นพิษ (toxic reaction) ต่ออวัยวะทั่วร่างกาย ทำให้มีอาการริมฝีปากบวม หนังตาบวมคัน ผิวหนังออกร้อนแดง มีลมพิษขึ้นทั่วตัว อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก

ถ้าเกิดการแพ้รุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบากหรือหายใจหอบ เนื่องจากกล่องเสียงบวมหรือหดเกร็ง หรือหลอดลมตีบตัวคล้ายหืด (ฟังปอดได้ยินเสียงวี้ด) หรือเกิดภาวะช็อกจากการแพ้ ซึ่งจะมีอาการเป็นลม ชีพจรเบาและเร็ว ความดันเลือดต่ำ และอาจทำให้เสียชีวิตภายใน 15-30 นาที ถึง 4 ชั่วโมง อาการแพ้รุนแรงอาจเกิดขึ้นภายใน 2-3 นาทีหลังถูกต่อย หรืออาจเกิดหลังถูกต่อยแล้ว 24 ชั่วโมงก็ได้

อาการแพ้อาจเกิดจากการถูกต่อยเพียงครั้งเดียวในผู้ที่เคยมีอาการแพ้ได้ง่าย เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แต่เดิม เคยถูกแมลงในตระกูลเดียวกันต่อยมาก่อน หรือเคยแพ้แมลงพวกนี้มาก่อน ซึ่งอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะช็อกจากการแพ้ (anaphylactic shock) ได้

ในบางรายปฏิกิริยาภูมิแพ้อาจเกิดขึ้นช้า ประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังถูกต่อย ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ ผื่นคัน ข้อบวมกดเจ็บ ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วไป บางรายอาจเกิดไตอักเสบ โรคไตเนโฟรติก หลอดเลือดอักเสบ (necrotizing vasculitis) โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ประสาทตาอักเสบ (optic neuritis) ไขสันหลังอักเสบ (transverse myelitis) กลุ่มอาการกิลเลนบาร์เร เป็นต้น

     ในรายที่ถูกผึ้งหรือต่อรุมต่อยจำนวนมาก เช่น ไปแหย่รังผึ้งรังต่อ ถูกต่อยมากกว่า 30-40 แผล (เด็กถูกต่อย 5-10 แผล) พิษจะซึมเข้ากระแสเลือดจำนวนมากก่อให้เกิดภาวะพิษต่อร่างกายโดยตรง (โดยไม่ใช่ปฏิกิริยาภูมิแพ้) อาจทำให้เกิดภาวะช็อกแบบเดียวกับภาวะช็อกจากอาการแพ้ เรียกว่า ปฏิกิริยาอะนาไฟแล็กทอยด์ (anaphylactoid reaction) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นในการถูกผึ้งหรือต่อต่อยครั้งแรกในชีวิต อาการมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และอาจทำให้เสียชีวิตภายในเวลาสั้น ๆ ได้

นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดภาวะพิษในลักษณะอื่น เช่น เม็ดเลือดแดงแตก กล้ามเนื้อลายถูกทำลาย (rhabdomyolysis) ไตวายเฉียบพลัน (ปัสสาวะออกน้อยทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ขาดน้ำ) เป็นต้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงหลังถูกต่อย

ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้บ่อยในผู้ที่ถูกต่อต่อยจำนวนมาก


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ผู้ป่วยที่มีอาการเฉพาะที่ไม่รุนแรง

    ถ้าพบว่ามีเหล็กในฝังอยู่ ให้รีบนำเหล็กในออกทันที โดยใช้สันมีดหรือขอบบัตรเครดิตขูดออก หรือใช้เทปเหนียวอย่างใส (สก็อตเทป) ปิดทาบตรงบริเวณที่ถูกต่อยแล้วดึงออก (ไม่ควรใช้ปากคีบคีบออก อาจบีบให้เหล็กในขับพิษออกมากขึ้น) แล้วทำความสะอาดด้วยน้ำกับสบู่
    ใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นประคบบริเวณที่ถูกต่อยนานครั้งละ 20 นาที ช่วยลดอาการปวดและบวมได้ ควรทำซ้ำทุกชั่วโมงจนกว่าอาการจะทุเลา
    ถ้าปวดมากให้กินพาราเซตามอล
    ถ้ามีอาการคันให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ไดเฟนไฮดรามีน และทาด้วยครีมสเตียรอยด์
    ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักในรายที่ไม่เคยได้ หรือได้ไม่ครบ หรือเคยฉีดเข็มสุดท้ายมานานเกิน 5 ปี
    ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน ถ้าแผลเป็นหนอง
    ผู้ป่วยที่เคยถูกแมลงพวกนี้กัดต่อยมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเคยมีอาการแพ้ ควรให้ยาแก้แพ้และเฝ้าสังเกตอาการแพ้อย่างใกล้ชิด ถ้าเคยมีประวัติการแพ้รุนแรงมาก่อน ควรรับไว้สังเกตการณ์ในโรงพยาบาล
    แม้ว่าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง หรือแผลที่ถูกต่อยทุเลาเป็นปกติแล้ว ก็ควรให้ผู้ป่วยสังเกตดูอาการต่อไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ถ้าพบมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้ ผื่น คัน ข้ออักเสบ ซีด จุดแดงจ้ำเขียว บวม แขนขาชาหรืออ่อนแรง ตามัว เป็นต้น อาจเป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นช้าก็ได้ แนะนำให้ผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์โดยเร็ว
    ถ้าถูกแมลงต่อยในช่องปาก นอกจากให้ยาแก้แพ้แล้ว ควรสังเกตอาการบวมของเยื่อบุช่องปาก ถ้าพบว่ามีอาการปากคอบวม พูดลำบาก หายใจลำบาก หรือพบในเด็ก ควรรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
    ถ้าถูกแมลงต่อยที่ตา ควรดูแลป้องกันและรักษาแผลกระจกตา

2. ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้หรือเกิดพิษรุนแรง เช่น มีลมพิษทั่วตัว มีอาการบวมคันที่บริเวณนอกรอยแผลที่ถูกต่อย (เช่น หนังตาบวม ริมฝีปากบวม) หายใจลำบากหรือมีเสียงวี้ด มีภาวะช็อก (เป็นลม ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชีพจรเบาและเร็ว ความดันเลือดต่ำ) แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล

แพทย์จะให้การรักษาตามอาการและความรุนแรงที่พบ เช่น

ในรายที่เป็นลมพิษหรือบวม คันทั้งตัว แพทย์จะฉีดยาแก้แพ้และอะดรีนาลิน บางรายแพทย์อาจให้รานิทิดีนร่วมด้วย

ในรายที่หายใจมีเสียงวี้ด ให้ยากระตุ้นบีตา 2 สูด ร่วมกับยาสเตียรอยด์

ในรายที่มีภาวะช็อกทั้งที่เกิดจากภาวะแพ้ (anaphylaxis) หรือภาวะพิษ (anaphylactoid) ก็ให้การรักษาแบบภาวะช็อกจากการแพ้ ได้แก่ ฉีดอะดรีนาลิน ยาเเก้เเพ้ รานิทิดีน และสเตียรอยด์ ให้น้ำเกลือนอร์มัล หรือริงเกอร์แล็กเทต รวมทั้งให้โดพามีน

ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจากการแพ้ เมื่อรักษาจนดีขึ้นแล้ว หลังหยุดยาอาจมีอาการกำเริบซ้ำได้อีก จึงควรสังเกตอาการในโรงพยาบาลอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

ในรายที่มีอาการหายใจลำบาก แพทย์อาจใส่ท่อหายใจหรือทำการเจาะคอช่วยหายใจ

3. ผู้ป่วยที่ถูกผึ้งหรือต่อรุมต่อยจำนวนมาก

ในรายที่ยังไม่มีอาการแสดง แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้สังเกตอาการในโรงพยาบาลอย่างน้อย 48 ชั่วโมง ทำการตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดดูค่าอิเล็กโทรไลต์และการทำงานของไต (ตรวจค่าครีอะตินีน และบียูเอ็น) และให้การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น รักษาภาวะช็อก ทำการฟอกล้างของเสียหรือล้างไต (dialysis) ในผู้ป่วยที่มีภาวะไตวาย เป็นต้น


การดูแลตนเอง

เมื่อถูกผึ้ง ต่อ แตน แมลงภู่ หมาร่า มดตะนอย หรือมดคันไฟต่อย ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    ถ้าพบว่ามีเหล็กในฝังอยู่ ให้รีบนำเหล็กในออกทันที โดยใช้สันมีดหรือขอบบัตรเครดิตขูดออก หรือใช้เทปเหนียวอย่างใส (สก็อตเทป) ปิดทาบตรงบริเวณที่ถูกต่อยแล้วดึงออก หรือใช้กุญแจที่มีรูกดตรงเนื้อเยื่อรอบ ๆ เหล็กใน ให้เหล็กในโผล่ขึ้นมาแล้วค่อยคีบออก
    การเอาเหล็กในออกโดยวิธีดังกล่าว เหมาะสำหรับกรณีที่ถูกแมลงต่อยเพียงไม่กี่ตัว แต่ถ้าถูกต่อยจำนวนหลายตัวควรรีบนำผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้าน ให้แพทย์หรือพยาบาลทำได้ง่ายและปลอดภัยกว่ากัน และจำเป็นต้องให้ทางโรงพยาบาลเฝ้าสังเกตอาการแพ้ที่รุนแรงและให้การดูแลช่วยเหลือได้ทันท่วงที
    ทำความสะอาดด้วยน้ำกับสบู่
    ทาแอมโมเนีย ยาหม่อง หรือครีมสเตียรอยด์
    ใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นประคบบริเวณที่ถูกต่อยนานครั้งละ 20 นาที ช่วยลดอาการปวดและบวมได้ ควรทำซ้ำทุกชั่วโมงจนกว่าอาการจะทุเลา
    ถ้าปวดมากให้กินพาราเซตามอล*


ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีภาวะช็อก (มีอาการหน้ามืด เป็นลม เหงื่อออก ตัวเย็น กระสับกระส่าย) หรือหายใจลำบาก หายใจหอบ หรือหายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ ถ้าพกพายาฉีดอะดรีนาลิน (ตามที่แพทย์แนะนำสำหรับผู้ที่เคยแพ้มดแมลงพวกนี้มาก่อน) มาด้วย ควรฉีดยานี้ทันทีระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาล
    ถูกผึ้ง ต่อ แตน แมลงภู่ หรือ หมาร่า ต่อยหลายตัว
    เคยมีประวัติแพ้ผึ้ง ต่อ แตน แมลงภู่ หมาร่า หรือมดแมลงแบบรุนแรงมาก่อน
    บวมคันทั่วตัว หรือเป็นลมพิษ
    มีอาการปวดแผลมาก (กินยาพาราเซตามอลไม่ได้ผล) หรือบวมมาก
    อาการตุ่มคันหรือบวมแดงไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
    มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง

*เพื่อความปลอดภัย ควรขอคำแนะนำวิธีและขนาดยาที่ใช้ ผลข้างเคียงของยา และข้อควรระวังในการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก สตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหรือมีการใช้ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งใช้อยู่เป็นประจำ

การป้องกัน

1. กำจัดขยะและเศษอาหารในบริเวณบ้าน เพื่อไม่ให้มีแมลงพวกนี้มาตอม

2. ในกรณีที่ต้องเดินทางเข้าไปในที่ ๆ มีแมลงพวกนี้ชุกชุม หรือออกไปกลางแจ้ง ไม่ควรใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาด ลายดอกไม้ หรือใส่น้ำหอม ซึ่งเป็นสิ่งล่อให้ผึ้งหรือต่อบินมาต่อยได้

3. อย่าแหย่หรือทำลายรังต่อรังผึ้ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเตือนเด็ก ๆ อย่ากระทำดังกล่าว) การกำจัดรังต่อรังผึ้ง ควรใช้ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ

4. ถ้าถูกแมลงโดยเฉพาะต่อต่อย ควรวิ่งหนีโดยเร็วที่สุด ให้ห่างจากรังเกิน 7 เมตร ซึ่งต่อมักจะไม่ตามไป ควรใช้ผ้าคลุมศีรษะป้องกันไม่ให้ต่อติดอยู่ในผม ซึ่งจะต่อยซ้ำ ๆ ได้


ข้อแนะนำ

1. เมื่อถูกแมลงที่มีเหล็กในต่อย ควรรีบเขี่ยออกทันที จะช่วยลดปริมาณพิษที่เข้าสู่ร่างกาย ป้องกันมิให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้ ปกติเมื่อถูกผึ้งต่อยจะต้องกินเวลา 2-3 นาที กว่าพิษจะถูกปล่อยออกมาหมด

2. ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะถูกแมลงพวกนี้ต่อยเพียงตัวเดียวหรือไม่กี่ตัว ซึ่งจะมีเพียงอาการเฉพาะที่ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ส่วนน้อยอาจเกิดพิษหรืออาการแพ้รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ถูกผึ้งหรือต่อรุมต่อยจำนวนมาก เคยมีประวัติถูกแมลงตระกูลเดียวกันต่อยมาก่อน หรือเคยแพ้แมลงพวกนี้มาก่อน

3. ผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ผึ้ง ต่อ แตน แมลงภู่ หมาร่า หรือมดแมลงมาก่อน ควรป้องกันอย่าให้ถูกต่อยซ้ำ ถ้าหากต้องเข้าไปอยู่ในที่เสี่ยงต่อการถูกต่อย ควรพกยาแก้แพ้และยาฉีดอะดรีนาลินไว้ปฐมพยาบาลเมื่อถูกต่อย

4. สำหรับผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกแมลงต่อย เช่น พนักงานป่าไม้ นักเดินป่า ลูกเสือเวลาออกค่าย เป็นต้น ควรมีชุดปฐมพยาบาล เช่น ยาฉีดอะดรีนาลิน พร้อมอุปกรณ์การฉีดยา ยาเม็ดคลอร์เฟนิรามีน ครีมสเตียรอยด์ เป็นต้น ไว้ปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมลงต่อย

5. ผู้ที่แพ้แมลงบ่อย ๆ อาจลดการแพ้ด้วยการขจัดภูมิไว (desensitization) โดยการฉีดน้ำสกัดของแมลงพวกนี้ให้ผู้ป่วยทีละน้อยและบ่อย ๆ ควรทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการทางโรคภูมิแพ้โดยเฉพาะ