โรคนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. ไขมันพอกตับจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic fatty liver disease/AFLD) เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด*
2. ไขมันพอกตับที่ไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic fatty liver disease/NAFLD) พบในผู้ที่ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อย ได้แก่ ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน เบาหวานชนิดที่ 2 ไขมัน (ไตรกลีเซอไรด์/แอลดีแอลคอเลสเตอรอล) ในเลือดสูง กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายถุง ซึ่งมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) กลุ่มอาการเมแทบอลิก (metabolic syndrome)** ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
นอกจากนี้ ยังอาจพบในผู้ป่วยตับอักเสบจากไวรัสซี ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดไทรอยด์หรือภาวะต่อมใต้สมองทำงานน้อย ผู้ป่วยที่ผ่าตัดถุงน้ำดี หรือมีการใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์, อะมิโอดาโรน (amiodarone), ทาโมซิเฟน (tamoxifen), เมโทเทรกเซต (methotrexate) เป็นต้น
ที่พบได้น้อยแต่รุนแรง คือ ภาวะตั้งครรภ์ ซึ่งมักเกิดในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ (แพทย์จำเป็นต้องให้การรักษาและช่วยให้คลอดบุตรให้เร็วที่สุด หลังคลอดภาวะไขมันพอกตับจะหายเป็นปกติ)
*ดื่มสัปดาห์ละ 15 ดื่มมาตรฐานหรือมากกว่า (สำหรับผู้ชาย) หรือ 8 ดื่มมาตรฐานหรือมากกว่า (สำหรับผู้หญิง)
1 ดื่มมาตรฐาน มีแอลกอฮอล์หนัก 10 กรัม ดูความหมายของแอลกอฮอล์ปริมาณ 1 ดื่มมาตรฐานในโรคความดันโลหิตสูง
มีงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ชายที่ดื่มแอลกอฮอล์ วันละ 40-80 กรัม และผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์ วันละ 20-40 กรัม นานกว่า 10-12 ปี มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคตับที่รุนแรง
**หมายถึง ภาวะที่มีอาการอย่างน้อย 3 จาก 5 ประการดังต่อไปนี้ (1) ภาวะอ้วนลงพุง (ผู้ชายถ้ามีรอบเอวตั้งแต่ 90 เซนติเมตรขึ้นไป ผู้หญิงถ้ามีรอบเอวตั้งแต่ 80 เซนติเมตรขึ้นไป), (2) ความดันโลหิตสูงกว่าปกติ (มีค่าตั้งแต่ 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป), (3) น้ำตาลในเลือดสูง (มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารตั้งแต่ 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป), (4) ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (ตั้งแต่ 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป) และ (5) เอสดีแอลคอเลสเตอรอล (HDL) ในเลือดต่ำ (น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในผู้ชาย หรือน้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในผู้หญิง)
หมอออนไลน์: ไขมันพอกตับ (Fatty liver disease) อ่านบทเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com